จังหวัดปราจีนบุรี ประวัติ และภูมิศาสตร์
คำว่า “ปราจีนบุรี” เป็นคำสมาสเกิดจากคำว่า “ปราจีณ” กับคำว่า “บุรี”
คำว่า “ปราจีน” หรือ “ปราจีณ” หมายความว่า ทิศตะวันออก ส่วนคำว่า “บุรี” หมายความว่า “เมือง” รวมแล้วคำว่า “ปราจีนบุรี” หมายถึงเมืองทางตะวันออกของอาณาจักรไทย
ประวัติสมัยอยุธยา
ปราจีนบุรี ในฐานะหัวเมืองชั้นใน ต้นทิศตะวันออก สันนิษฐานพบว่าในสมัยอยุธยาตอนต้นก่อนการปฏิรูปการปกครองในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) เมืองปราจีนมีฐานะเป็เมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ราชธานี คือ กรุงศรีอยุธยา โดยทางกรุงศรีอยุธยาจะส่งขุนนางมาปกครองโดยให้ขึ้นตรงต่อเมืองหลวง และหลังจากปฏิรูปการปกครองในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ การปกครองหัวเมืองก็เปลี่ยนไปจากเดิม คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเป็น “หัวเมืองชั้นใน” “หัวเมืองชั้นนอก” และ”หัวเมืองประเทศราช” และแบ่งหัวเมืองเป็นชั้น เอก โท ตรี และจัตวา ทรงลดฐานะหัวเมืองชั้นในคือเมืองลูกหลวงและเมืองหลานหลวง ลงมาเป็นเมืองจัตวาภายใต้การปกครองของราชธานี โดยทางราชธานีจะส่งขุนนางมาปกครองและขึ้นตรงต่อเมืองหลวง และขุนนางที่ปกครองหัวเมืองชั้นในเรียกว่า “ผู้รั้ง” เขตที่จัดเป็นหัวเมืองชั้นในมีอาณาบริเวณ ดังนี้ ทิศเหนือจดเมืองชัยนาท ทิศตะวันออกจดเมืองปราจีนบุรี ทิศตะวันตกจดสุพรรณบุรี ทิศใต้จดเมืองกุยบุรี เมืองปราจีนบุรี หลังจากการปฏิรูปในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงเป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นกับราชธานี ตำแหน่งเจ้าเมืองหรือผู้รั้งมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามที่ ออกพระอุไทยธานี
ปราจีนบุรี เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศกัมพูชา เรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดปราจีนบุรีในสมัยอยุธยาจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับสงครามระหว่างสองราชอาณาจักร
สมัยธนบุรี
ในสมัยธนบุรีได้กล่าวถึงเมืองปราจีนเพียงว่าเป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ยกทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปยังเมืองจันทบุรี โดยเมืองปราจีนบุรีอยู่ในเส้นทางเดินทัพ ซึ่งตามพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับจันทนุมาศ (เจิม) ได้กล่าวไว้
สมัยรัตนโกสินทร์
รัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองปราจีนยังคงเป็นเมืองผ่านของเส้นทางเดินทัพระหว่างไทยกับกัมพูชา มีผู้คนอาศัยมากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นหลายเมือง เช่น เมืองกบินทร์บุรี เมืองอรัญประเทศ เมืองวัฒนานคร เป็นต้น ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองบางขนากขึ้น ส่งผลให้การติดต่อระหว่างเมืองปราจีนบุรีและเมืองพระนครสะดวกรวดเร็วขึ้น
ต่อมาในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้มีพระราชดำริที่จะสร้างป้อมเมืองปราจีน แต่ได้ลงมือสร้างและแล้วเสร็จในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
มณฑลปราจีน
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการค้นพบแหล่งทองคำที่เมืองกบินทร์บุรี มีการทำเหมืองทองคำ ต่อมาเมื่อปฏิรูปการปกครองจากระบบกินเมืองเป็นระบบเทศาภิบาล ได้ใช้เมืองปราจีนเป็นที่ว่าการ “มณฑลปราจีน” ส่งผลให้เมืองปราจีนมีความสำคัญมากขึ้นกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญในภูมิภาคตะวันออก แต่ครั้นเมื่อได้ย้ายที่ว่าการมณฑลปราจีน ไปอยู่ที่เมืองฉะเชิงเทรา ทำให้เมืองปราจีนลดความสำคัญลง ประกอบกับเส้นทางคมนาคมเปลี่ยนไป คือมีการทำเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มายังเมืองฉะเชิงเทรา และมีคนจีนไปสร้างหลักแหล่งในเมืองฉะเชิงเทรามากขึ้น อันส่งผลให้เมืองฉะเชิงเทรากลายเป็นศูนย์กลางความเจริญแทนเมืองปราจีน
การเปลี่ยนแปลงเมือง
ปี ๒๔๗๖ ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย ให้มีตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด แบบ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ส่งผลให้มณฑลเทศาภิบาลปราจีนบุรีถูกเยิกเลิกไป เมืองปราจีนบุรีจึงมีฐานะเป็น “จังหวัดปราจีนบุรี”
ปี ๒๔๘๕ รัฐบาลได้ออก พระราชบัญญัติยุบและรวมการปกครอง บางจังหวัด พ.ศ. ๒๔๘๕ โดย “ให้ยุบจังหวัดนครนายกและให้รวมท้องที่ของจังหวัดที่ยุบเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี เว้นแต่อำเภอบ้านนาให้รวมเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดสระบุรี”
ปี ๒๔๘๙ รัฐบาลได้ออก พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พ.ศ.๒๔๘๙ โดยให้แยกอำเภอนครนายก อำเภอองครักษ์ และอำเภอปากพลีออกจากการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี กับให้แยกอำเภอบ้านนาออกจากการปกครองของจังหวัดสระบุรี จัดตั้งเป็นจังหวัดขึ้นเรียกว่าจังหวัดนครนายก
ปี ๒๕๓๖ ได้มี พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดสระแก้ว พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยมาตรา ๓ ให้แยกอำเภอสระแก้ว อำเภอคลองหาด อำเภอตาพระยา อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ ออกจากการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี รวมตั้งขั้นเป็นจังหวัดสระแก้ว
พื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี : ๔,๗๖๒,๓๖๒ ตารางกิโลเมตร
การปกครองส่วนภูมิภาคจังหวัดปราจีนบุรี ประกอบด้วย ๗ อำเภอ
๑. อำเภอเมืองปราจีนบุรี
๒. อำเภอบ้านสร้าง
๓. อำเภอศรีมโหสถ
๔. อำเภอศรีมหาโพธิ์
๕. อำเภอประจันตคาม
๖. อำเภอนาดี
๗. อำเภอกบินทร์บุรี
คำขวัญจังหวัดปราจีนบุรี
ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผตงหวานคู่เมือง ผลไม้ลือเลี่อง เขตเมืองทวารวดี